Month: มกราคม 2013

บาลีวันละคำ

อกฺขร – ภาสา (บาลีวันละคำ 248)

อกฺขร – ภาสา

อ่านว่า อัก-ขะ-ระ / พา-สา
ไทยใช้ว่า อักษร (อัก-สอน) ภาษา (พา-สา)

“อักษร-ภาษา” เป็นเรื่องหญ้าปากคอกที่หลายคนยังเข้าใจผิด
“อักษร” กับ “ภาษา” มีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง ในที่นี้ขอแสดงเฉพาะส่วนต่างที่มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นส่วนเหมือน นั่นคือ
“ภาษา” คือเสียงที่เปล่งออกมาเป็นข้อความอย่างหนึ่ง
“อักษร” คือลายลักษณ์ที่บันทึกเสียงหรือคำที่เปล่งออกมานั้น
ตัวอย่างเช่น
เขียนว่า “นะโม” นี่คือ “อักษรไทย”
เขียนว่า “NAMO” นี่คือ “อักษรโรมัน” (ที่เรามักเรียกติดปากว่าอังกฤษ)
แต่ “นะโม” ไม่ใช่ “ภาษาไทย” และ “NAMO” ก็ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”
ทั้ง “นะโม” และ “NAMO” เป็น “ภาษาบาลี”
เราอาจเอาคำที่ออกเสียงว่า “นะ-โม” ไปเขียนเป็นอักษรขอม อักษรพม่า ลาว มอญ ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น อะไรอีกก็ได้ แต่ “นะโม” ก็ยังคงเป็น “ภาษาบาลี” อยู่นั่นเอง ไม่ได้กลายเป็นภาษาขอม หรือภาษาพม่า ลาว มอญ ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น ไปด้วยเลย

Read More
บาลีวันละคำ

รกฺขส (บาลีวันละคำ 247)

รกฺขส

อ่านว่า รัก-ขะ-สะ
ภาษาไทยใช้ตามเป็นรูปคำสันสกฤตเป็น “รากษส” อ่านว่า ราก-สด

“รกฺขส” แปลทับศัพท์ว่า รากษส แปลตามความเข้าใจว่า ผีเสื้อน้ำ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“รากษส : ยักษ์ร้าย, ผีเสื้อนํ้า, ชื่อพวกอสูรชั้นต่ำ มีนิสัยดุร้าย ในคัมภีร์โลกทีปกสารว่า เป็นบริวารของพญายม, ในคัมภีร์โลกบัญญัติว่า เป็นบริวารของพระวรุณ, ใช้ รากโษส ก็มี”
“ผีเสื้อน้ำ” พจน.42 บอกไว้ว่า “เทวดาที่รักษาน่านนํ้า”
(คำนิยามของ พจน. ชวนให้สงสัยว่า รากษสเป็นยักษ์หรือเป็นเทวดา ?)

“รกฺขส – รากษส” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นแดนรักษาตนแห่งผู้คน” หมายความว่าถ้าคนเจอเข้าแล้วต้องหลบหนีเพื่อรักษาตน
ตามคำแปลนี้ รากษสเป็นยักษ์แน่

Read More
บาลีวันละคำ

สามกะเสียน (บาลีวันละคำ 246)

สามกะเสียน

คำในภาษาไทยที่ออกเสียง 2 พยางค์ว่า “กะ-เสียน” มี 3 คำ คือ

1 กะเสียนเณร คือ “เกษียณ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ้นไป” ใช้ในความหมายว่าสิ้นกําหนดเวลารับราชการ หรือหมดอายุการทำงาน บาลีเป็น “ขีณ” สันสกฤตเป็น “กฺษีณ” แปลงรูปเป็นไทยเป็น “เกษียณ” – ณ เณร สะกด

2 กะเสียนเรือ คือ “เกษียร” แปลตามศัพท์ว่า “น้ำนม” มีคำที่ใช้ในภาษาไทยว่า “เกษียรสมุทร” แปลว่า ทะเลนํ้านม ตามคติเทพนิยายของพราหมณ์ว่าเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ “เกษียร” คำนี้บาลีเป็น “ขีร” (ขี-ระ) สันสกฤตเป็น “กฺษีร” แปลงรูปเป็นไทยเป็น “เกษียร” – ร เรือ สะกด

3 กะเสียนหนู คือ “เกษียน” เป็นคำกริยาแปลว่า “เขียน” เป็นคำนามหมายถึงข้อความที่เขียนแทรกไว้, ข้อความที่เขียนไว้บนหัวกระดาษคําสั่งหรือหนังสือราชการ
“เกษียน” น หนู สะกดนี้ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต ผู้รู้ท่านว่าแผลงมาจากคำไทยว่า “เขียน” นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นเกษียนไทย หรือเรียกอย่างไม่เกรงใจก็คือ เกษียนปลอม เพราะ ข ไทย ไม่แผลงเป็น กฺษ เหมือน ข บาลี

Read More
บาลีวันละคำ

เกษียณ (บาลีวันละคำ 245)

เกษียณ

คำบาลีสันสกฤตเขียนแบบไทย อ่านว่า กะ-เสียน

“เกษียณ” บาลีเป็น ขีณ (ขี-นะ) สันสกฤตเป็น กฺษีณ (ข ในบาลี = กฺษ ในสันสกฤต)
กฎการแปลงรูปง่ายๆ คือ “อี” หรือ “อิ” ในบาลีสันสกฤตเป็น “เอีย” ในภาษาไทย เช่น พีร เป็น เพียร, ศิร เป็น เศียร, จีร (ช้า,นาน) เป็น เจียร แล้วแผลงเป็น จำเนียร
ดังนั้น ขีณ จึง = เขียณ รูปสันสกฤตจึงเป็น “เกษียณ”

“ขีณ” แปลว่า ทำลาย, ทำให้หมด, เคลื่อนย้าย, ทำให้เสียเปล่า, สิ้นไป, หมดไป (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า destroyed, exhausted, removed, wasted, gone)

คำว่า “เกษียณ” ในภาษาไทย เดิมใช้ในความหมายว่า “สิ้นกําหนดเวลารับราชการ” คำเต็มเรียกว่า “เกษียณอายุราชการ”
ต่อมาพูดสั้นลงมาว่า “เกษียณอายุ”
แล้วตัดเหลือแค่ “เกษียณ”
แต่ขยายความหมายจาก “รับราชการ” ไปถึงการทำงานกับบริษัท ห้างร้าน เอกชน แล้วขยายต่อไปถึงการทำงานทั่วไป
เวลานี้ “เกษียณ” กลายความหมายไปเป็น หยุด, ล้มเลิก, ยกเลิก, เลิกกิจการ, เลิกทำ

Read More
บาลีวันละคำ

สมุทย (บาลีวันละคำ 244)

สมุทย

อ่านว่า สะ-มุ-ทะ-ยะ
ภาษาไทยใช้ว่า “สมุทัย” พจน.42 ให้อ่านว่า สะ-หฺมุ-ไท, สะ-หฺมุด-ไท

“สมุทย” ประกอบด้วย สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น) + อย (ธาตุ = ไป)

กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ “สํ” แปลงนิคหิตเป็น “ม” = “สม” + อุ = สมุ + อย = สมุย ลง “ท” อาคมระหว่าง มุ – ย = สมุทย

Read More
บาลีวันละคำ

พิเรนทร์ (บาลีวันละคำ 243)

พิเรนทร์

1 รากศัพท์
“พิเรนทร์” (พิ-เรน) คำบาลีประกอบด้วย วีร (วี-ระ, กล้า) + อินฺท (อิน-ทะ, ผู้เป็นใหญ่)
ลดเสียง อี (ที่ วี) เป็น อิ = วิร
แปลง อิ (ที่ อินฺ) เป็น เอ = เอนฺท
จึง = วิร + เอนฺท = วิเรนฺท
แปลง ว เป็น พ = พิเรนฺท
“อินฺท” สันสกฤตเป็น “อินฺทฺร” เขียนแบบสันสกฤต = พิเรนฺทฺร (พิ-เรน-ทฺระ)
เขียนแบบไทยใส่การันต์ที่ ร (ทำให้ ทฺร ไม่ออกเสียง) = พิเรนทร์” (พิ-เรน) แปลว่า “จอมคนผู้กล้า” หรือ “หัวหน้าของนักรบ”

2 วัดพระพิเรนทร์
วัดพระพิเรนทร์ที่ถนนวรจักร กรุงเทพฯ สร้างสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) โปรดเกล้าฯ ให้ “พระพิเรนทรเทพ” (-พิ-เรน-ทฺระ-เทบ) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง มาบูรณปฏิสังขรณ์ในราวปี พ.ศ. 2379 จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระพิเรนทร์” ตามชื่อบรรดาศักดิ์ของผู้บูรณปฏิสังขรณ์

3 ที่มาของสำนวน “พิเรนทร์” ในภาษาไทย
เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2436 (ร.5) “พระพิเรนทรเทพ” พระตำรวจหลวงผู้หนึ่ง ออกความคิดฝึกหัดคนให้ดำน้ำเพื่อไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม แต่วิธีฝึกออกจะทารุณ คือใครโผล่ขึ้นมาเร็วเกินไป ก็ใช้ไม้ถ่อค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ จนมีคนตายเพราะการกระทำแบบนั้น ชาวบ้านจึงพากันเรียกการกระทำของพระพิเรนทร์ฯ ว่า “เล่นอย่างพิเรนทร์” จนเป็นคำพูดติดปากกันต่อมา เมื่อมีใครทำสิ่งใดแผลงๆ อุตรินอกลู่นอกทางในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรกระทำ จึงเรียกกันว่า “เล่นพิเรนทร์” หรือเป็น “คนพิเรนทร์”

Read More
บาลีวันละคำ

ปฏิญฺญา (บาลีวันละคำ 242)

ปฏิญฺญา

อ่านว่า ปะ-ติน-ยา

ส่วนประกอบของคำคือ ปฏิ + ญา

“ปฏิ” (คำอุปสรรค) = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ
“ญา” (ธาตู) = รู้ (เมื่อประสมกัน ซ้อน ญ ตามกฎไวยากรณ์)

“ปฏิญฺญา” แปลว่า คำรับรอง, คำมั่น, สัญญา, การตกลง, การให้ความเห็นชอบ, การอนุญาต, การรับว่า-, การแสดงตัวว่าเป็น-

Read More
บาลีวันละคำ

บุพเพสันนิวาส (บาลีวันละคำ 241)

บุพเพสันนิวาส

คำบาลีเขียนแบบไทย อ่านว่า บุบ-เพ-สัน-นิ-วาด

“บุพเพสันนิวาส” เขียนแบบบาลีเป็น “ปุพฺเพสนฺนิวาส”
อ่านว่า ปุบ-เพ-สัน-นิ-วา-สะ
ประกอบด้วย ปุพฺเพ + สนฺนิวาส

“ปุพฺเพ” แปลว่า ในกาลก่อน, ในชาติปางก่อน

“สนฺนิวาส” ประกอบด้วย สํ + นิวาส แปลว่า การอยู่ร่วมกัน

“ปุพฺเพสนฺนิวาส-บุพเพสันนิวาส” จึงแปลว่า “การอยู่ร่วมกันในชาติก่อน” หมายถึงเคยเป็นพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง เพื่อน ผัว เมีย ฯลฯ กันมาในอดีตชาติ ในชาตินี้จึงเกิดมาเป็นเช่นนั้นกันอีก

Read More
บาลีวันละคำ

เปรต (บาลีวันละคำ 240)

เปรต

อ่านว่า เปรฺด (ปรฺ ควบ เสียงเอก เหมือน “โปรด”)

“เปรต” เขียนตามรูปสันสกฤต, บาลีเป็น “เปต” (เป-ตะ)
“เปต” ประกอบด้วย ปร + อิ + ต สูตรแสดงกระบวนการของคำนี้ว่า “ปรํ โลกํ เอติ คจฺฉตีติ เปโต” แปลว่า “เปตะ คือ ผู้ไปสู่ปรโลก”

ตามความหมายของศัพท์ ผู้ที่ตายไปแล้วจึงเรียกว่า “เปต – เปรต” ได้ทั้งสิ้น

Read More
บาลีวันละคำ

โอปปาติก (บาลีวันละคำ 239)

โอปปาติก

อ่านว่า โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ
ภาษาไทยเขียน “โอปปาติกะ” อ่านเหมือนบาลี

ประกอบด้วย อุ + ป + ปต + ณี + ณิก = โอปปาติก
อุ (อุปสรรค) = ขึ้น, แผลงเป็น โอ = โอ + ป
ป (อุปสรรค) = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก, (โอ +) = โอป + ปต
ปต (ธาตุ) = ไป, ตก, ยืดเสียงเป็น ปาต (โอป +) = โอปปาต + ณี
ณี (ปัจจัย) = ผู้-, (โอปปาต +, ลบ ณ) = โอปปาตี + ณิก
ณิก (ปัจจัย) = ผู้-, (โอปปาตี +, ลบ อี ลบ ณ) = โอปปาติก

Read More