Month: กรกฎาคม 2013

บาลีวันละคำ

เสวก (บาลีวันละคำ 422)

เสวก

บาลีอ่านว่า เส-วะ-กะ
รากศัพท์มาจาก เสว (ธาตุ = คบหา, เสพ) + ณฺวุ (ปัจจัย = ผู้-) แปลง ณฺวุ เป็น “อก” (อะ-กะ) : เสว + ณฺวุ (= อก) = เสวก

“เสว” (เส-วะ) คำกริยาเป็น “เสวติ” (เส-วะ-ติ) มีความหมายว่า รับใช้, คบหาสมาคม, ซ่องเสพ, หันไปหา, ปฏิบัติ, รวมเข้าไว้, ใช้ประโยชน์ ซึ่งตรงกับคำอังกฤษว่า serve หรือที่เราพูดกันว่า “เสิร์ฟ”
“เสวก” จึงมีความหมายเหมือน serve นั่นเอง ฝรั่งแปล “เสวก” ว่า serving, a servant
นักบาลีในเมืองไทยนิยมแปลคำกริยา “เสวติ” ว่า ย่อมเสพ, ย่อมคบ ดังนั้น “เสวก” จึงแปลว่า “ผู้เสพคุ้น” “ผู้คบหา”
พจน.42 บอกว่า “เสวก” คือ ข้าราชการในราชสํานัก

ในภาษาบาลี คำว่า “เสวก” ใช้ในฐานะ 2 อย่าง คือ
1 คนรับใช้ประจำตัว
2 ข้าราชบริพาร หรือข้าราชสำนัก ในความหมายว่า “ผู้ใกล้ชิดพระราชา”
ในคัมภีร์อรรถกถาจัด “เสวก” ไว้ในกลุ่ม “ราชภัฏ”
“ราชภัฏ” คือบุคคลที่เรียกว่า “ข้าราชการ” แต่ “เสวก” หมายเอาเฉพาะข้าราชการที่เป็นข้าราชบริพาร หรือข้าราชสำนักเท่านั้น

คำว่า “เสวก” ใช้ประกอบยศข้าราชการในพระราชสำนักสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น
– มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
– มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

ตารางเทียบยศทหารกับยศข้าราชการในพระราชสำนักแสดงไว้ว่า นายร้อยตรี เท่ากับ “รองเสวกตรี”

ในภาษาไทย “เสวก” อ่านว่า เส-วก ไม่ใช่ สะ-เหฺวก

Read More
บาลีวันละคำ

อัยการ [1] (บาลีวันละคำ 421)

อัยการ [1]

อ่านว่า ไอ-ยะ-กาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำแปลว่า “การของเจ้า”
ถ้าถือตามคำแปลของ พจน.42 “อัยการ” ตรงกับบาลีว่า “อยฺยการ” อ่านว่า ไอ-ยะ-กา-ระ

“อยฺย” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, ผู้สูงศักดิ์, เจ้าเหนือหัว, เจ้านาย, หัวหน้า ตรงกับคำเรียกขานที่ว่า ท่านผู้ทรงเกียรติ, ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
“อยฺย” คำนี้ แปลตามรากศัพท์จริงๆ ว่า “ควรเข้าไปหา” และ “ที่รู้จักกันทั่วไปว่าประเสริฐ”
ขยายความตามหลักตรรกะว่า เราต้องการสิ่งใด จึงเข้าไปหาสิ่งนั้น, สิ่งใดประเสริฐ เราจึงต้องการสิ่งนั้น
ดังนั้น ความหมายโดยนัยของ “อยฺย” ก็คือ “ศูนย์รวมแห่งผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ของส่วนรวม” นั่นเอง

“การ” แปลว่า การกระทำ, งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา
อยฺย + การ = อยฺยการ เขียนแบบไทยว่า “อัยการ”

พจน.42 บอกความหมายของ “อัยการ” ไว้ดังนี้ –

1 ตัวบทกฎหมาย เรียกว่า พระอัยการ

2 ชื่อสำนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เรียกว่า สำนักงานอัยการสูงสุด, เดิมเรียกว่า กรมอัยการ

3 เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินเพื่ออำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรียกว่า พนักงานอัยการ หรือ ข้าราชการอัยการ

4 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุดหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้

5 โบราณเรียกว่า พนักงานรักษาพระอัยการ ยกกระบัตร หรือ ยกบัตร

อัยการ : ผู้ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน
ใครที่จ้องแต่จะเขมือบ : ก็คือ เหลือบของแผ่นดิน

Read More
บาลีวันละคำ

อาวาส (บาลีวันละคำ 420)

อาวาส

บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ
ภาษาไทยอ่านว่า อา-วาด
“อาวาส” รากศัพท์คือ อา + วส (ธาตุ = อยู่) + ณ ปัจจัย

ณ ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย ณ (เช่น เณ ณฺย) มักไม่ปรากฏตัว ณ (ภาษาสูตรไวยากรณ์ว่า “ลบ ณ ทิ้งเสีย”) แต่มีอำนาจทีฆะต้นธาตุ คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วส ธาตุ “ว” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา” : อา + วส = วาส + ณ = อาวาส

“อาวาส” แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” ความหมายกว้างๆ คือ การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก
ในภาษาไทย “อาวาส” มีความหมายเฉพาะว่า วัด

จากการศึกษาสังเกตสิ่งก่อสร้างภายในอาวาสในเมืองไทยที่มีมาแต่ก่อน ท่านแบ่งเป็น 3 เขต ตามแนวแห่งพระรัตนตรัย คือ
1 เขตที่มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระธาตุ เรียกว่า “พุทธาวาส”
2 เขตที่มีศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เรียกว่า “ธัมมาวาส”
3 เขตที่เป็นกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ เรียกว่า “สังฆาวาส”

“อาวาส” ที่ไม่เกี่ยวกับวัด คือ “ฆราวาส” (ฆร + อาวาส) แปลว่า “ผู้อยู่ครองเรือน” คือชาวบ้านทั่วไป พูดล้อตามเขตทั้งสามข้างต้นก็ว่า “เขตของชาวบ้าน”

: พระอยู่อย่างพระ ศาสนาพิลาส
: พระอยู่อย่างฆราวาส ศาสนาพินาศ

Read More
บาลีวันละคำ

อาราม (บาลีวันละคำ 419)

อาราม

บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ
ภาษาไทยอ่านว่า อา-ราม

“อาราม” แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่มายินดี” = มาถึงตรงนั้นแล้วเกิดความรู้สึกยินดีรื่นรมย์ใจ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาราม”

“อาราม” ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ
1 ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์, ความร่มรื่น
2 สถานที่อันร่มรื่น, สวน, อุทยาน
ความหมายที่ 2 นี้ฝรั่งแปลว่า park, garden อันเป็นคำที่คนไทยคุ้นมานาน

นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” จึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย
“อาราม” ในภาษาไทยหมายถึง “วัด” และถ้าเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นทรงสร้างหรือทรงอุปถัมภ์บำรุง ก็เรียกว่า “พระอารามหลวง”

มีเรื่องว่า พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินที่พระอารามหลวงแห่งหนึ่ง เจ้าพนักงานไปตรวจภายในวัด เห็นว่ามีต้นไม้กีดขวางเส้นทางที่จะเสด็จ ก็จะตัดทิ้ง แต่ท่านเจ้าอาวาสไม่ยอมให้ตัด ยืนยันว่า “ถ้าเสด็จไม่ได้ก็ไม่ต้องเสด็จ” แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์สมัยก่อนท่านเข้มแข็งอย่างยิ่งในการรักษาความร่มรื่นภายในวัดเพื่อให้สมกับที่วัดเป็น “อาราม”

ในแง่ความเป็นที่อยู่อาศัย “อาราม” กับ “วิหาร” ไม่ต่างกัน
แต่ในแง่ความเหมาะสม “วิหาร” ควรมีความเป็น “อาราม” อยู่ด้วยเสมอ

คาเม วา ยทิวารญฺเญ นินฺเน วา ยทิวา ถเล
ยตฺถ อรหนโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.
ไม่ว่าจะในหมู่บ้านหรือในป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน
พระอรหันต์อยู่ที่ไหน ที่นั้นก็เป็นอาราม

Read More
บาลีวันละคำ

เถร-เถน (บาลีวันละคำ 418)

เถร-เถน

เถร บาลีอ่านว่า เถ-ระ
เถน บาลีอ่านว่า เถ-นะ

“เถร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” “ผู้ยังคงอยู่” “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง” หมายถึงพระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่

ในพระไตรปิฎกแสดงคุณสมบัติของภิกษุที่สมควรได้นามว่า “เถร” ไว้ 4 ประการ คือ
1 มีศีลาจารวัตรอันงาม
2 เป็นพหูสูต รอบรู้พระธรรมวินัย
3 ทรงสมาธิ (ตามหลักว่าถึงขั้นได้ฌาน)
4 เป็นอิสระจากกิเลส
ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้แม้อายุน้อย ก็ได้นามว่า “ธรรมเถร” (ผู้เป็นเถระโดยธรรม) ภิกษุที่อายุพรรษามาก แต่พร่องคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “สมมุติเถร” (ผู้เป็นเถระโดยสมมุติ)

ในภาษาไทย มีปัญหาว่า “เถร” (ไม่มีสระ อะ) ในนามสมณศักดิ์ เช่น “พระโพธิญาณเถร” จะอ่านอย่างไร -เถ-ระ หรือ -เถน ?
ตามเจตนาในการเขียน ควรอ่านว่า “-เถน” เช่นเดียวกับ “สามเณร” เราก็อ่านว่า -เนน ไม่ใช่ -เน-ระ
ถ้าต้องการให้อ่านว่า – เถ-ระ ก็ควรจะเขียนเป็น “-เถระ”

บางท่านรังเกียจเสียง “เถน” เพราะ “เถน” (บาลีอ่านว่า เถ-นะ) แปลว่า ขโมย จึงเรียกพระที่ประพฤติเสียหายว่า “เถน” แล้วอธิบายแบบลากเข้าวัดว่า พระที่เป็น “เถน” ก็เพราะขโมยเพศพระมาครอง

พจน.42 เก็บคำว่า “เถน” ไว้ บอกความหมายว่า “นักบวชที่เป็นอลัชชี” ทั้งๆ ที่ “เถน – ขโมย” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนักบวชเลย

Read More
บาลีวันละคำ

สามเณร (บาลีวันละคำ 417)

สามเณร

บาลีอ่านว่า สา-มะ-เน-ระ ไทยอ่านว่า สาม-มะ-เนน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“สามเณร : ผู้ดํารงเพศอย่างภิกษุ แต่สมาทานศีล 10, เรียกสั้น ๆ ว่า เณร”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความว่า –
สามเณร : บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบทคือศีล 10 และปฏิบัติกิจวัตรบางอย่างเหมือนภิกษุ ตามปกติมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์; พระราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

ในภาษาบาลีมีคำเรียกสามเณรอีกศัพท์หนึ่ง คือ “สมณุทฺเทส” อ่านว่า สะ-มะ-นุด-เท-สะ อ่านแบบไทยว่า สะ-มะ-นุด-เทด

“สามเณร” รากศัพท์คือ สมณ + เณร ปัจจัย แปลว่า “ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสมณะ” หรือ “เหล่ากอแห่งสมณะ”

“สมณุทฺเทส” รากศัพท์คือ สมณ + อุทฺเทส แปลว่า “ผู้ที่ใครๆ ควรชี้บอกกันได้ว่า ‘นี้เป็นสมณะ’ เพราะมีเพศและอาจาระของสมณะ”

คำว่า “สมณะ” มีความหมายว่า ผู้สยบความชั่วได้แล้วด้วยประการทั้งปวง

: ความชั่วฉาวก็สยบ งามสงบด้วยอาจาระ ทรงเพศสมณะก็งาม
จึ่งสมควรออกนามว่า “สามเณร”

พึงเป็นผู้ที่ใครๆ ชี้บอกกันได้ดั่งนี้ เทอญ

Read More
บาลีวันละคำ

โบสถ์ (บาลีวันละคำ 416)

โบสถ์

อ่านว่า โบด
ตัดมาจากคำว่า “อุโบสถ” (อุ-โบ-สด) บาลีว่า “อุโปสถ” (อุ-โป-สะ-ถะ)

“อุโปสถ – อุโบสถ” มีความหมาย 4 อย่าง คือ (1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา (3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา (4) สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม (ดูรายละเอียดที่คำว่า “อุโปสถ” บาลีวันละคำ (67) 11-7-55)

คำว่า “โบสถ์” ใช้เฉพาะความหมายตามข้อ (4) คือ สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ทำพิธีกรานกฐิน เป็นต้น

เครื่องหมายที่บอกให้รู้ว่าสถานที่ตรงนั้นเป็นโบสถ์ ก็คือ “สีมา” (หรือ “เสมา”) มักทำเป็นซุ้มรายรอบโบสถ์ หรือบางแห่งทำใบเสมาติดรายรอบผนังโบสถ์ด้านนอก

สำนวนไทยบางคำมีที่มาจาก “โบสถ์” เช่น

– “ชายสามโบสถ์” มาจากคนที่บวชๆ สึกๆ หลายครั้ง ใช้พูดเป็นเชิงตําหนิว่า เป็นคนที่ไม่น่าคบ
– กรณีพระสงฆ์ประชุมฟังสวดพระปาติโมกข์ คำเก่าเรียกกันว่า “พระลงโบสถ์” แสดงถึงความสามัคคีของสงฆ์
– คนที่อยู่ในหน่วยงานหรือสังคมเดียวกัน แต่ความเห็นไม่ตรงกันจนถึงไม่ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียกว่า “ไม่ลงโบสถ์กัน” (ความหมายเดียวกับ “ไม่ร่วมสังฆกรรม”)
– “หลังโบสถ์” หมายถึงสถานที่ลับสำหรับแอบไปทำอะไรกันไม่ให้ใครเห็น มาจากเด็กวัดวิวาทกันแล้วแอบไปชกต่อยกันหลังโบสถ์เพื่อไม่ให้พระเห็น
– “ใต้ถุนโบสถ์” เป็นคำพูดล้อเล่น หมายถึงไม่ต้องทำอย่างที่พูด หรือเป็นอย่างที่พูดไม่ได้ เช่น “ไปเจอกันใต้ถุนโบสถ์นะ” (เดิมแท้นั้นโบสถ์สร้างติดพื้นดิน จึงไม่มีใต้ถุน)

มีบาตรไม่โปรด
มีโบสถ์ไม่ลง
มีอาบัติไม่ปลง
เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร
(คำที่พระท่านเตือนสติพระด้วยกัน)

Read More
บาลีวันละคำ

ปริวาส (บาลีวันละคำ 415)

ปริวาส

บาลีอ่านว่า ปะ-ริ-วา-สะ ไทยอ่านว่า ปะ-ริ-วาด
ประกอบด้วย ปริ (รอบ) + วาส (การอยู่, การพักแรม) = ปริวาส

“ปริวาส” มีความหมายว่า การอยู่ค้างคืน, การอยู่แรมคืน; เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะต้องประพฤติเพื่อให้พ้นผิด เรียกว่า “อยู่ปริวาส” คำเก่าเรียก “อยู่กรรม” (ทำในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ โดยต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิด)

อาบัติสังฆาทิเสสมีฐานความผิด 13 กรณี เช่น สำเร็จความใคร่ถึงน้ำกามหลั่ง เป็นต้น เป็นอาบัติหนักรองจากปาราชิก ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่จะพ้นผิดได้โดยให้สงฆ์ลงโทษแบบอารยชน เช่น
– อยู่ร่วมที่กับภิกษุอื่นไม่ได้ ต้องแยกบริเวณอยู่ต่างหาก (ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ปริวาส”)
– ถูกตัดสิทธิ์ เช่นถูกตัดออกจากลำดับการรับนิมนต์ (ทำนองเดียวกับ เว้นวรรคทางการเมือง)
– ลดฐานะตัวเอง เช่น ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ ก็ต้องไปนั่งท้ายแถว, รับไหว้จากพระด้วยกันไม่ได้
– ประจานตัว เช่น ถ้ามีพระอาคันตุกะเข้ามาในวัด พระที่อยู่ปริวาสต้องไปรายงานตัวว่า ตนต้องอาบัติหนัก อยู่ในระหว่างถูกลงโทษ

ในคัมภีร์ “ปาริวาสิกขันธกะ” วินัยปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องการอยู่ปริวาสโดยเฉพาะ ไม่ได้แสดงไว้ว่าภิกษุทั่วไปอยู่ปริวาสกันได้ด้วย
“อยู่ปริวาส” เป็นการลงโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์ของภิกษุทั่วไป ดังที่บางแห่งนิยมจัดเป็นกิจกรรมบุญกันในสมัยนี้

: นักเรียนทำผิด ครูสั่งให้วิ่งรอบสนาม 3 รอบเป็นการลงโทษ
: นักเรียนที่ไม่ได้ทำผิดเห็นว่าการวิ่งเป็นการออกกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง ก็เลยขอวิ่งด้วย
หรือว่าจะเข้าใจแบบนี้ ?

Read More
บาลีวันละคำ

อลชฺชี (บาลีวันละคำ 414)

อลชฺชี

ภาษาไทยเขียน อลัชชี อ่านว่า อะ-ลัด-ชี เหมือนบาลี

“อลชฺชี” รากศัพท์คือ น (= ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + ลชฺชา (= ความละอาย, ความเกลียดกลัวผิด) + อี แปลง น เป็น อ : น = อ + ลชฺชา + อี = อลชฺชี

“อลชฺชี – อลัชชี” แปลว่า “ผู้ไม่มีความละอาย” หมายถึง คนหน้าด้าน มักใช้เรียกภิกษุผู้มักประพฤติละเมิดพุทธบัญญัติโดยจงใจละเมิด หรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข

พจน.42 บอกว่า

“อลัชชี : (คุณศัพท์) ไม่อาย, นอกจารีต. (คำนาม) ผู้ไม่อาย (ใช้แก่นักพรต), ผู้ประพฤตินอกจารีต, เช่น พระรูปนี้เป็นอลัชชี”

ในภาษาไทย “อลัชชี” เป็นคำตำหนิที่ให้ความรู้สึกว่าน่ารังเกียจ ขยะแขยง

ในภาษาบาลีมีอีกคำหนึ่ง คือ “นิลฺลชฺชา” (นิ + ลชฺชา ซ้อน ล, อ่านว่า นิน-ลัด-ชา)

คำนี้รูปดีเสียงเพราะ ผู้ไม่รู้บาลีอาจนึกว่าน่าจะใช้เป็นชื่อผู้หญิงได้ดี

“นิลฺลชฺชา”แปลว่า “ผู้มีความละอายโบยบินออกไปจากหัวใจ” มีความหมายเช่นเดียวกับ “อลัชชี” นั่นเอง

“อลัชชี” มักใช้แก่นักพรตก็จริง แต่ตามรากศัพท์แล้วใช้แก่คนทั่วไปก็ได้ด้วย เช่น

– ข้าราชการทุกประเภทที่มีระเบียบวินัยกำกับ
– ผู้บริหารบ้านเมืองทุกระดับที่ถวายสัตย์ปฏิญาณหรือปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง
– คนในสายอาชีพต่างๆ ที่มีจรรยาบรรณควบคุม
– ผู้ที่มีอาชีพหรือทำงานเกี่ยวข้องกับประชาชน
– ฯลฯ

ถ้าทุจริต ประพฤติมิชอบ โกงกิน เอาเปรียบประชาชนหรือผู้บริโภค เอาเปรียบหน่วยงาน ฯลฯ ก็คือ “ผู้ไม่มีความละอาย” หรือ “ผู้มีความละอายโบยบินออกไปจากหัวใจ” นั่นเอง

ดีไหม ? คนชนิดนั้น –

: ถ้าเป็นบุรุษ ก็ชวนกันเรียกว่า “อลัชชี”
: ถ้าเป็นสตรี ก็ตั้งชื่อว่า “นิลลัชชา”

Read More