Month: กรกฎาคม 2013

บาลีวันละคำ

เยาว์ (บาลีวันละคำ 442)

เยาว์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“เยาว์ (เยา) : อ่อนวัย, รุ่นหนุ่ม, รุ่นสาว, เช่น เยาว์วัย วัยเยาว์. (แผลงมาจาก ยุว)”

“ยุว” บาลีอ่านว่า ยุ-วะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปะปนกัน” คือมีลักษณะผสมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ หรือพ้นจากวัยเด็ก แต่ยังไม่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ความหมายก็คือ คนหนุ่มคนสาว ที่เรียกว่า “เยาวชน” นั่นเอง
“เยาวชน” พจน.42 ว่า บุคคลอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ (ความหมายตามหลักกฎหมาย)

กระบวนการกลายคำ “ยุว” เป็น “เยาว์” คือ
1 แปลง อุ ที่ ยุ เป็น โอ = โยว (โย-วะ)
2 แปลง โอ เป็น เอา = เยาว (เยา-วะ)
(ถ้าตามสูตรบาลีต้องบอกว่า แปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) เสียง “อว” ในบาลีเท่ากับ “เอา” ในเสียงไทย)
3 ในภาษาไทย ถ้าอยู่ท้ายคำ ว ไม่ออกเสียง จึงการันต์ที่ ว = เยาว์ อ่านว่า เยา

คำว่า “เยาว์” จึงใช้กับคนเท่านั้น
ถ้าจะให้หมายถึงสินค้ามีราคาถูก หรือมีราคาพอสมควร ต้องเขียนว่า “ย่อมเยา” (ไม่มี ว การันต์)
“เยา” เป็นคำไทย มีความหมายว่า เบา, อ่อน, น้อย

“เยา” ไทย เคยถูก “จับบวช” เป็น “เยาว์” บาลี โดยมีผู้ทำท่าจะรู้พยายามอธิบายผิดให้เป็นถูกว่า “ราคาย่อมเยาว์” (มี ว การันต์) น่าจะใช้ได้ เพราะเป็นการพูดโดยอุปมาโวหาร คือเปรียบราคาสินค้าเหมือนอายุคน “ราคาย่อมเยาว์” ก็คืออายุของราคาสินค้ายังน้อยอยู่ คือมีราคาถูก หรือมีราคาพอสมควร อันเป็นความหมายเดียวกับ “เยา” นั่นเอง

“ราคาย่อมเยาว์” – ผิด
“ราคาย่อมเยา” – ถูก

: แก้คำผิดให้ถูก
: ดีกว่าอธิบายคำผิดให้เป็นถูก

Read More
บาลีวันละคำ

เบญจางคประดิษฐ์ (บาลีวันละคำ 441)

เบญจางคประดิษฐ์

อ่านว่า เบน-จาง-คะ-ปฺระ-ดิด
แยกคำเป็น เบญจ + องค + ประดิษฐ์

“เบญจ” บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน ๕) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ”

“องค” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ (เช่น ศีลข้อปาณาติบาตจะขาด ต้องประกอบด้วยองค์ห้า)
เบญจ + องค = เบญจงค แล้วยืดเสียง อัง-คะ เป็น อาง-คะ = เบญจางค แปลตามศัพท์ว่า “องค์ห้า”

“ประดิษฐ์” บาลีเป็น “ปติฏฺฐิต” (ปะ-ติด-ถิ-ตะ) แปลว่า ตั้งขึ้น, ดำรงไว้, ประดิษฐาน, ยืนอยู่ เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประดิษฐ์” ใช้ในความหมายว่า ตั้งขึ้น, จัดทําขึ้น, คิดทําขึ้น, สร้างขึ้น, แต่งขึ้น

ในที่นี้ “ประดิษฐ์” มีความหมายว่า “จรดลงอย่างตั้งใจ”

เบญจ + องค = เบญจางค + ประดิษฐ์ = เบญจางคประดิษฐ์ แปลตามศัพท์ว่า “การจรดลงอย่างตั้งใจด้วยองค์ห้า” หมายถึงการกราบโดยให้อวัยวะทั้ง 5 คือ เข่า 2 ฝ่ามือ 2 และหน้าผาก 1 สัมผัสลงกับพื้น เป็นกิริยาแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ใช้ในการกราบพระ (พระรัตนตรัย เช่นกราบที่โต๊ะหมู่บูชา, กราบพระสงฆ์)

“เบญจางคประดิษฐ์” ภาษาบาลีใช้ว่า “ปญฺจปติฏฺฐิต” (ปัน-จะ-ปะ-ติด-ถิ-ตะ) ไม่ใช่ “ปญฺจงฺคปติฏฺฐิต” (ไม่มี “องค” เหมือนในภาษาไทย)

: ชนใดรูปทราม แม้นกราบพระงาม ลบทรามกลับงามชวนชม
: ชนใดรูปงาม แม้นกราบพระทราม ลบงามกลับทรามซวนซม
: ชนใดรูปทราม ซ้ำกราบพระทราม สิ้นงามสามภพลบจม
: ชนใดรูปงาม ซ้ำกราบพระงาม ยิ่งงามสามภพนบนิยม

——————
(ปรับปรุงจาก ปญฺจปฺปติฏฺฐิต บาลีวันละคำ (50) 22-6-55)

Read More
บาลีวันละคำ

อัฐฬส (บาลีวันละคำ 440)

อัฐฬส

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “อัฐ” (อัด) (คำโบราณ) ไว้ มีความหมายดังนี้ –
1 เรียกเงินปลีกสมัยก่อน 8 อัฐ เท่ากับ 1 เฟื้อง
2 เงิน, เงินตรา เช่น คนมีอัฐ
3 ราคาถูก ในสํานวนว่า ไม่กี่อัฐ, ไม่กี่อัฐฬส ก็ว่า

คำว่า “ฬส” ย่อมาจาก “โสฬส” (โส-ลด) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
1 ชั้นพรหมโลก 16 ชั้น ถือกันว่าเป็นที่มีสุขอย่างยอดยิ่ง
2 ตําราเล่นการพนันครั้งโบราณสําหรับเล่นหวย เล่นถั่ว
3 เรียกเงินปลีกสมัยก่อน 16 อัน เป็น 1 เฟื้อง, เรียกย่อว่า ฬส

ความหมายที่ตรงกันของ “อัฐ” และ “ฬส” (“โสฬส”) ก็คือ เป็นคำเรียกเงินปลีกสมัยก่อน 8 อัฐ (= “อัฐ”) หรือ 16 อัน (= “โสฬส”) เป็น 1 เฟื้อง
มาตราเงินตามวิธีโบราณ เริ่มจาก โสฬส > อัฐ > เฟื้อง > สลึง > บาท > ตำลึง > ชั่ง
จะเห็นได้ว่า โสฬส หรือ อัฐ เป็นหน่วยย่อยที่สุด คำว่า “อัฐฬส” (อัด-ลด) จึงมีความหมายว่า ราคาถูก หรือของที่แทบไม่มีราคา

“อัฐ” บาลีเป็น “อฏฺฐ” อ่านว่า อัด-ถะ แปลว่า แปด (จำนวน 8)
“โสฬส” บาลีอ่านว่า โส-ละ-สะ แปลว่า สิบหก (จำนวน 16)

สำนวนบาลีเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีค่ามากน้อยกว่ากันเมื่อเทียบกัน นิยมพูดว่า เอาสิ่งที่มีค่ามากกว่ามาแบ่งออกเป็น “16 ส่วน” แล้วเอา 1 ใน 16 ส่วนนั้นมาแบ่งออกไปอีก 16 ส่วน แบ่งโดยทำนองนี้ถึง 16 ครั้ง เอาทั้งหมดของสิ่งที่มีค่าน้อยกว่ามาเทียบก็ยังมีค่าไม่ถึงส่วนเสี้ยวเดียวของสิ่งที่มีค่ามากกว่าซึ่งแบ่งเป็นครั้งที่ 16 ดังกล่าวแล้ว

: เงินหมื่นล้านแสนล้านที่โกงเขามา ให้ความสุขได้ไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 ของเงินบาทเดียวที่หามาได้โดยสุจริต

Read More
บาลีวันละคำ

สยามมกุฎราชกุมาร (บาลีวันละคำ 439)

สยามมกุฎราชกุมาร

“สยาม” เป็นชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482; คำนี้หมายถึง “ของประเทศไทย” ก็ได้

“มกุฎ” บาลีเป็น “มกุฏ” (มะ-กุ-ตะ, ฏ ปฏัก สะกด) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องประดับ” หมายถึงเครื่องสวมศีรษะ มีลักษณะต่าง ๆ กัน และมีความหมายว่า ยอด, สูงสุด, ยอดเยี่ยม ภาษาไทยใช้ว่า “มกุฏ” (มะกุด) และ “มงกุฏ” (มง-กุด) (ฎ ชฏา สะกด)

“ราชกุมาร” บาลีอ่านว่า รา-ชะ-กุ-มา-ระ คำว่า “กุมาร” แปลตามรากศัพท์ว่า “ผู้เล่นสนุก” “ผู้ขีดดินเล่น” “ผู้สนุกอยู่บนดิน” “ผู้อันบิดามารดาปรารถนา”
“ราชกุมาร” หมายถึง เจ้าชาย, โอรสของพระราชา

“สยามมกุฎราชกุมาร” (สะ-หฺยาม-มะ-กุด-ราด-ชะ-กุ-มาน) แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าชายผู้ได้รับมงกุฎแห่งสยาม” ขยายความว่า เจ้าชายแห่งสยามผู้ได้รับเครื่องประดับพระเศียรอันเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

พระอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร” (เทียบคำอังกฤษ The Crown Prince) นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า และตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

สยามมีพระราชกุมารที่ดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” จนถึงปัจจุบันนับได้ 3 พระองค์ ได้แก่ –
1 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ในรัชกาลที่ 5)
2 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ในรัชกาลที่ 5)
3 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลปัจจุบัน)

: 28 กรกฎาคม วันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

ขอจงทรงพระเจริญ

Read More
บาลีวันละคำ

เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (บาลีวันละคำ 438)

เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

อ่านว่า เพ็ด-ชะ-รัด-ราด-ชะ-สุ-ดา สิ-หฺริ-โส-พา-พัน-นะ-วะ-ดี

แต่ละคำมีคำแปลและความหมายดังนี้ –

“เพชร” บาลีเป็น “วชิร” (วะ-ชิ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) หรือ “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง” โดยความมุ่งหมายแล้วคำนี้หมายถึงอสนีบาต หรือสายฟ้า ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่น ๆ
“เพชร” ในที่นี้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ”

“รัตน” บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี”( คือเพิ่มความยินดีให้) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง
คำนี้ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี

“ราช” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” ความหมายที่เข้าใจกันคือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์

“สุดา” บาลีเป็น “สุตา” (สุ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาปกครอง” “ผู้เชื่อฟัง” หมายถึง ลูกสาว (ถ้า “สุต” (สุ-ตะ)หมายถึง ลูกชาย)

“สิริ” แปลว่า ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความดี, ความเจริญ, โชค, ความมีเดช

“โสภา” แปลว่า ความงดงาม, ความเปล่งปลั่ง, ความสวยงาม

“พัณณวดี” บาลีเป็น “วณฺณวตี” (วัน-นะ-วะ-ตี) แปลว่า ผู้มีผิวพรรณอันควรชม, ผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง

“เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระนามนี้มีความหมายว่า

“พระราชธิดาผู้มีผิวพรรณอันทรงพระสิริโฉม ผู้เป็นดั่งดวงแก้วแห่งมหาวชิราวุธ”

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2554 พระชันษา 85 พรรษา

: เสวยสุขทุกทุกภพจบจักรวาล
: กว่าจะพบพระนฤพานผ่านภพเทอญ

Read More
บาลีวันละคำ

สัจอธิษฐาน (บาลีวันละคำ 437)

สัจอธิษฐาน
(บาลีไทย)

ในช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน มีคนจำนวนมากตั้งใจงดการกระทำบางอย่าง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เป็นต้น และเรียกการตั้งใจงดเช่นนั้นว่า “สัจอธิษฐาน”

“สัจ” บาลีเป็น “สจฺจ” อ่านว่า สัด-จะ หมายถึง ความจริง, ความจริงใจ, ความสัตย์, คำจริง ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง จริง, แท้
ในทางธรรม “สจฺจ” หมายถึง สัจธรรม (ความจริงแท้), นิพพาน
“สจฺจ” แปลตามรากศัพท์ว่า –
“สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)
“สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)
“สัจจะ” เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า สัจบารมี (สัด-จะ-บา-ระ-มี)

“อธิษฐาน” บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” (อะ-ทิด-ถา-นะ) มาจาก อธิ + ฐาน ซ้อน ฏ = อธิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ, ความตกลงใจ
“อธิฏฺฐาน – อธิษฐาน” ตามความหมายเดิมคือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี (อะ-ทิด-ถา-นะ-บา-ระ-มี)

สจฺจ + อธิฏฺฐาน เขียนแบบไทยตามหลักของราชบัณฑิตยสถาน ตัด จ ออกตัวหนึ่ง และไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เป็น “สัจอธิษฐาน” อ่านว่า สัด-จะ-อะ-ทิด-ถาน มีความหมาย (ตามเจตนา) ว่า “ตั้งสัจจะอย่างมั่นคง”

ความจริง การตั้งใจทำความดี เพียงมี “สัจจะ” หรือ “อธิษฐาน” อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สำเร็จได้ คือ –
จริงใจที่จะทำความดี = สัจจะ (เมื่อจริงใจ ก็ไม่เลิกล้ม)
ตั้งมั่นอยู่ในความดีที่ทำ = อธิษฐาน (เมื่อมั่นคงในความดี ก็ไม่เลิกล้ม)

: มีทั้ง “สัจจะ” มีทั้ง “อธิษฐาน” ขอให้ชนะมารโดยทั่วกันเทอญ !

Read More
บาลีวันละคำ

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (บาลีวันละคำ 436)

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

“ธมฺม” (ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” ความหมายกลางๆ คือ หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ ในที่นี้หมายถึงพระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น (ดูเพิ่มเติมที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

“จกฺก” (จัก-กะ) แปลว่า ล้อรถ, แผ่นกลม, วงกลม

“ปวตฺตน” (ปะ-วัด-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อนไปข้างหน้า” ในที่นี้เป็นอาการของ “ล้อ” จึงมีความหมายว่า “หมุนไป”

“สูตร” บาลีเป็น “สุตฺต” (สุด-ตะ) หมายถึง เส้นด้าย, เส้นเชือก (ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยาวออกไป”) และหมายถึงพระพุทธพจน์หรือพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก (ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “วจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา” และ “วจนะที่รักษาอรรถไว้ด้วยดี” เป็นต้น)

ธมฺม + จกฺก + ปวตฺตน + สุตฺต = ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺต (สังเกต จกฺก + ปวตฺตน ซ้อน ปฺ) เขียนแบบไทยเป็น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แปลความว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งธรรม”

เนื้อหาแห่งพระสูตรนี้ (เรียกสั้นๆ ว่า “พระธรรมจักร” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ปฐมเทศนา”) ว่าด้วยอริยสัจสี่ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เป็นการเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหลังจากตรัสรู้แล้ว 2 เดือน เมื่อจบพระสูตร ท่านโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์บรรลุธรรม ทูลขออุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้มีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์

: การแสดงพระสูตรนี้ มีคำพรรณนาไว้ว่า อุปมาดั่งจักรพรรดิราชธรรมราชา ทรงกรีธากองทัพธรรม ย่ำยีบดขยี้กิเลสมารน้อยใหญ่ นำเวไนยนิกรให้ลุถึงอมตนครมหานฤพานฉะนั้นแล

Read More
บาลีวันละคำ

จํานําพรรษา (บาลีวันละคำ 435)

จํานําพรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“จํานําพรรษา : เรียกผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จําพรรษาในวัดนั้น ๆ ว่า ผ้าจํานําพรรษา”

ตาม พจน.42 ทำให้มีปัญหาว่า “ผ้าจํานําพรรษา” คือผ้าอะไร ถวายเมื่อไร

“ผ้าจํานําพรรษา” ภาษาบาลีว่า “วสฺสาวาสิกสาฎก” หรือ “วสฺสาวาสิกสาฏิกา”

“วสฺสา” (วัด-สา) แปลว่า พรรษา หมายถึงฤดูฝน
“วาสิก” (วา-สิ-กะ) แปลว่า ผู้อยู่, ผู้อาศัยอยู่
“สาฏก” (สา-ตะ-กะ) หรือ “สาฏิกา” (สา-ติ-กา) แปลว่า ผ้า (ตามวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวชมพูทวีปโบราณ หมายถึงเสื้อผ้าชั้นนอก หรือผ้าคลุม ใช้เมื่อเวลาออกนอกบ้าน)

“วสฺสาวาสิกสาฎก” หรือ “วสฺสาวาสิกสาฏิกา” หมายถึง ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้ว
โปรดสังเกตว่า “อยู่จำพรรษาครบแล้ว” คือหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ก่อนเข้าพรรษา หรือระหว่างสามเดือนในพรรษา

เพราะฉะนั้น “ผ้าจํานําพรรษา” ก็คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอดพรรษา คือตลอดปีที่ผ่านมานั่นเอง

ผ้าที่เกี่ยวกับ “พรรษา” อีกชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีเรียก “วสฺสิกสาฎก” หรือ “วสฺสิกสาฏิกา” (วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ / วัด-สิ-กะ-สา-ติ-กา)
“วสฺสิก” เป็นคุณศัพท์ แปลว่า สำหรับฤดูฝน, ซึ่งอยู่ในฤดูฝน, ซึ่งอยู่จำพรรษา
“วสฺสิกสาฎก” หรือ “วสฺสิกสาฏิกา” ก็คือ “ผ้าอาบน้ำฝน” เรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าอาบ” คนเก่าๆ เรียก “ผ้าชุบอาบ” หรือ “ผ้าชุบสรง”
“ผ้าอาบน้ำฝน” นี้ ต้องถวายก่อนเข้าพรรษา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้าในระหว่างจำพรรษา

“ผ้าอาบน้ำฝน” จึงไม่ใช่ “ผ้าจํานําพรรษา” อย่างที่มักเรียกกันผิดๆ
(แล้วยังลามไปเรียก “เทียนพรรษา” ว่า “เทียนจํานําพรรษา” ผิดซ้ำเข้าไปอีกด้วย)

: ถ้าเมืองตาหลิ่วยังมีตางาม ก็อย่าหลิ่วตาตามไปเสียทุกเรื่อง

Read More
บาลีวันละคำ

พรรษา (บาลีวันละคำ 434)

พรรษา

บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา

“วสฺส – พรรษา” แปลตามศัพท์ว่า
1 “น้ำที่หลั่งรดลงมา” = ฝน
2 “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” = ฤดูฝน
3 “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” = ปี

“วสฺส -วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –
1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา”
2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา”

ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายของ “พรรษา” ไว้ว่า
– ช่วงระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา
– ปี เช่น บวช 3 พรรษา, มีพระชนมายุ 25 พรรษา

คำที่เราพูดว่า “เข้าพรรษา” บาลีใช้ว่า “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) แปลว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” หมายถึงดิถีเข้าพรรษา, วันเข้าพรรษา

: “พรรษา” แปลว่า ปี ควรฤๅจะทำดีแค่สามเดือน ?

Read More
บาลีวันละคำ

อาสาฬฺห (บาลีวันละคำ 433)

อาสาฬฺห

คำบาลี อ่านว่า อา-สาน-หะ

“อาสาฬฺห” เป็นชื่อหมู่ดาว
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงความหมายของศัพท์ไว้ว่า –
“อาสาฬฺโห นาม ภตีนํ ทณฺโฑ, ตํสณฺฐานตฺตา อาสาฬฺหา = ดาวที่มีรูปร่างเหมือนไม้คานของคนรับจ้าง”
เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวนี้จึงเรียกชื่อเดือนนั้น “อาสาฬฺห” คือเดือน ๘ ทางจันทรคติ ตกราวมิถุนายน – กรกฎาคม

คำสำคัญที่เกี่ยวกับเดือนนี้คือ “อาสาฬหบูชา” ซึ่งมีความหมายว่า “การบูชาในเดือน ๘” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบพระรัตนตรัย

ในภาษาไทย มีปัญหาว่าจะอ่านคำ “อาสาฬห” ว่าอย่างไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า อา-สาน-หะ และอ่านว่า อา-สาน-ละ-หะ
ความจริง มีคำอ่านอีกแบบหนึ่งที่มีคนอ่าน แต่ พจน.42 ไม่ได้บอกไว้ คือ อา-สา-ละ-หะ

หลักตัดสินก็คือ ในภาษาบาลี ตัว ฬ เมื่อซ้อนอยู่หน้า ห เป็นตัวสะกดอย่างเดียว ไม่ต้องออกเสียง
คำเทียบที่เห็นได้ชัดคือ
– ทัฬหีกรรม (การกระทําให้มั่นคงขึ้น) อ่านว่า ทัน-ฮี-กํา
– วิรุฬห์ (เจริญ, งอกงาม) อ่านว่า วิ-รุน
– วิรุฬหก (ชื่อท้าวจาตุมหาราชองค์หนึ่ง ประจําทิศทักษิณ) อ่านว่า วิ-รุน-หก

สาเหตุ :-
“ทั-” ยังออกเสียงเองไม่ได้ ส่วน “วิรุ-” แม้จะออกเสียงเองได้ แต่ก็ยังชวนให้มองหาตัวสะกดอีก จึงรู้ได้ชัดว่า “ฬ” เป็นตัวสะกด จึงไม่มีใครอ่านว่า ทัน-ละ-ฮี-กำ หรือ วิ-รุน-ละ-หก
แต่ “อาสาฬห” -สา- เมื่ออ่านตามที่ตาเห็น สามารถออกเสียงได้เอง ไม่ทำให้รู้สึกว่า “ฬ” เป็นตัวสะกด จึงอ่านเป็น อา-สา-ละ-หะ หรือ อา-สาน-ละ-หะ ได้ง่าย

: ห้ามคนอื่นไม่ให้ทำผิด – ยาก
: ห้ามตัวเราเองไม่ให้ทำผิด – ยิ่งยาก

Read More