Month: มิถุนายน 2013

บาลีวันละคำ

อายุ (บาลีวันละคำ 401)

อายุ

ไทยใช้เหมือนบาลี อ่านว่า อา-ยุ
ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อายุ” จนเข้าใจกันโดยไม่ต้องรู้คำแปล

“อายุ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น (ถ้างง กลับไปอ่านคำแปลอีกครั้ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายคำว่า “อายุ” ไว้ว่า –
1 เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต
2 ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง
3 ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว
4 ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน

ฝรั่งแปลคำว่า “อายุ” ว่า –
life (ชีวิต), vitality (ความสามารถดำรงชีวิต), duration of life (การกำหนดอายุ), longevity (ความมีอายุยืน)

ผู้รู้อธิบายความหมายว่า –
“อายุ” คือสภาวธรรมที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่หรือเป็นไป, พลังที่หล่อเลี้ยงดำรงรักษาชีวิต, พลังชีวิต, ความสามารถของชีวิตที่จะดำรงอยู่และดำเนินต่อไป; ช่วงเวลาที่ชีวิตของมนุษย์สัตว์ประเภทนั้นๆ หรือของบุคคลนั้นๆ จะดำรงอยู่ได้, ช่วงเวลาที่ชีวิตจะเป็นอยู่ได้ หรือได้เป็นอยู่;
ในภาษาไทย อายุ มีความหมายเพี้ยนไปในทางที่ไม่น่าพอใจ เช่นกลายเป็นความผ่านล่วงไปหรือความลดถอยของชีวิต

อายุที่เลือกได้ :
อายุร้อยปี ชั่วดีไม่รู้
อายุชั่วครู่ รู้ชั่วรู้ดี

Read More
บาลีวันละคำ

กัลยาณมิตร (บาลีวันละคำ 400)

กัลยาณมิตร

อ่านว่า กัน-ลฺยา-นะ-มิด
บาลีเขียน “กลฺยาณมิตฺต” อ่านว่า กัน-ลฺยา-นะ-มิด-ตะ (กลฺยา-ออกเสียง ละ นิดหนึ่ง)

“กลฺยาณมิตฺต” ประกอบด้วย กลฺยาณ + มิตฺต
“กลฺยาณ” แปลตามรากศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความปราศจากโรค” (นึกเทียบ-ป่วย แล้วหายป่วย คืออะไร) “สิ่งที่ทำให้สำเร็จประโยชน์”
“กลฺยาณ” มีความหมายว่า ความดี, ความงาม, ความประเสริฐ, มีคุณธรรมดี

“มิตฺต” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักใคร่กัน” “ผู้ใส่เข้าข้างใน (คือเก็บความลับไว้ได้)” “ผู้ผูกคนอื่นไว้ในตน” ความหมายที่เข้าใจกันคือ มิตร (ทับศัพท์ตามรูปสันสกฤต), เพื่อน
พจน.42 บอกไว้ว่า “มิตร : เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร”

“กลฺยาณมิตฺต – กัลยาณมิตร” ความหมายทั่วไปคือ เพื่อนที่ดี, มิตรมีคุณธรรม, มิตรแท้; ความหมายเฉพาะในทางธรรมคือ ผู้แนะนำในทางศีลธรรม, ที่ปรึกษาทางธรรม

ท่านว่า กัลยาณมิตรเปรียบเหมือนรุ่งอรุณแห่งความดีงาม
เมื่อเห็นแสงเงินแสงทอง ก็บอกได้ว่าอีกไม่นานจะสว่าง ฉันใด
เมื่อได้คนดีเป็นกัลยาณมิตร ก็บอกได้ว่า อีกไม่นานความดีงามจะเกิดมี ฉันนั้น

Read More
บาลีวันละคำ

โอกาส (บาลีวันละคำ 399)

โอกาส

บาลีอ่านว่า โอ-กา-สะ ไทยอ่านว่า โอ-กาด

“โอกาส” รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + กส (ธาตุ = ไถ) + ณ (ปัจจัย)
กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แปลง อว เป็น โอ, กส เป็น กาส ตามกฎของปัจจัยที่มี “ณ” : อว = โอ + กส = กาส =โอกาส

“โอกาส” แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่ไถลง”
อธิบายเป็นภาพว่า ถ้าเอาไถไปไถตรงไหน แล้วไถนั้นไม่ถูกอะไรเลย มีแต่ปักหัวลงท่าเดียว ตรงนั้นแหละเรียกว่า “โอกาส”
ดังนั้น ความหมายของ “โอกาส” ก็คือ –
1 ที่ว่าง, ช่องว่าง, ที่โล่งแจ้ง, บรรยากาศ, อวกาศ
2 การมองเห็นได้, รูปร่าง
3 วาระ, จังหวะ, การตกลง, ความยินยอม (= อนุญาตให้-)
4 (คุณศัพท์) มองดูเหมือน-, ดูปรากฏว่า-

พจน.42 บอกความหมายในภาษาไทยว่า “โอกาส : ช่อง, ทาง; เวลาที่เหมาะ, จังหวะ”

คำนี้สันสกฤตเป็น “อวกาศ” ไทยเขียนตามบาลีเป็น “โอกาส”
ระวัง ! ใช้ ส เสือ สะกด ไม่ใช่ ศ ศาลา

: ความหมายหลักของ “โอกาส” คือ “ว่าง”
: หัวใจว่างเมื่อไร โอกาส-ก็ได้เมื่อนั้น

Read More
บาลีวันละคำ

พาหะ-พ่าห์ (บาลีวันละคำ 398)

พาหะ-พ่าห์

บาลีเป็น “วาห” อ่านว่า วา-หะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไปให้ถึง” “ผู้พยายาม (ที่จะไป)” “เครื่องนำไป” มีความหมายว่า การบรรทุก, การนำไป, ผู้นำไป, ผู้นำหน้าไป, ม้า, เกวียน (รวมถึงยานพาหนะอื่นๆ) และ เป็นชื่อมาตราตวง อัตรา 100 ถังเท่ากับ 1 วาหะ เช่นที่เราพูดว่า “ข้าวเปลือกเกวียนละ…”
“เกวียน” คำนั้นก็คือ “วาห” คำนี้

“วาห” ภาษาไทยใช้เป็น “พาหะ” (แปลง ว เป็น พ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายไว้ดังนี้ (1) ผู้แบก, ผู้ถือ, ผู้ทรงไว้; ม้า (2) แขน (3) ตัวนํา เช่น ยุงก้นปล่องเป็นพาหะไข้มาลาเรีย

“พาห-พาหะ” เป็นคำเดียวกับที่เขียนว่า “พ่าห์” (หรือ พาห) เช่น ครุฑพ่าห์ (= ครุฑแบก) ดุลพ่าห์ (ดุลพาห) (= ผู้ทรงไว้ซึ่งคันชั่ง = ผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม)

สมมุติฐาน
การอ่าน “พาห” ว่า “พ่า” ชวนให้เห็นว่าอักขรวิธีโบราณใช้ “ห” เป็นวรรณยุกต์เอก ดังที่คนเก่าเขียนว่า (โปรดสังเกตว่าที่ ห ไม่มีการันต์) –
เสนห ให้อ่านว่า สะ-เหฺน่
อุตสาห ให้อ่านว่า อุด-ส่า
เลห ให้อ่านว่า เล่
โลห ให้อ่านว่า โล่
พาห ให้อ่านว่า พ่า
คนสมัยใหม่ไม่เข้าใจหลักของท่าน ไปใส่วรรณยุกต์เอกแล้วการันต์ที่ ห
ถ้าเป็นคำบาลีสันสกฤตที่มี ห อยู่ท้ายพยางค์ก็รอดตัวไป
แต่ถ้าไปโดนคำไทย เช่น “โลห” (ก็คือจะเขียน “โล่” นั่นเอง แต่ใช้ ห แทนไม้เอก) พอเขียนเป็น “โล่ห์” ไปพ้องกับบาลีว่า “โลห” ก็ว่าคนเก่าเขียนผิด เพราะโล่ไม่ได้ทำด้วยโลหะเสมอไป แก้เป็น “โล่”

: ไม่รู้ว่า “โลห” คือ “โล่” ไม่รู้ว่าใครโง่กว่ากัน

Read More
บาลีวันละคำ

พาหนะ (บาลีวันละคำ 397)

พาหนะ

อ่านว่า พา-หะ-นะ

คำนี้บาลีมักใช้เป็น “วาหน” อ่านว่า วา-หะ-นะ (ที่เป็น “พาหน” ก็มี แต่น้อย) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปให้ถึง” “สิ่งเป็นเครื่องพยายามเมื่อเกิดกิจธุระขึ้น”

คำแปลข้อหลังนี้ หมายความว่า เมื่อเกิดความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปมาให้เร็วขึ้น หรือต้องนำพาสัมภาระเป็นจำนวนมากเกินกว่าแรงคนจะหอบหิ้วแบกหามไปได้ มนุษย์จึงต้องพยายามหาเครื่องมือมาใช้เพื่อการนั้น จึงเป็นที่มาของ “วาหน-สิ่งที่นำไปให้ถึง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

พาหนะ : เครื่องนําไป, เครื่องขับขี่, สัตว์สําหรับขี่บรรทุกหรือลากเข็นมีช้าง ม้า โค กระบือเป็นต้น เรียกว่า สัตว์พาหนะ, ยานต่าง ๆ มีรถและเรือเป็นต้น เรียกว่า ยานพาหนะ

ในภาษาบาลี ถ้าเติม “ส” (สะ) เข้าข้างหน้า เป็น “สวาหน” (สะ-วา-หะ-นะ) “วาหน” จะมีความหมายว่า ไพร่พล กองทัพ เช่นในพระคาถาชินบัญชรที่ว่า “เชตฺวา มารํ สวาหนํ” แปลว่า “ชนะมารพร้อมทั้งไพร่พล”

ในภาษาไทย “พาหนะ” ถ้าเขียน “พาหน” (ไม่มีสระ อะ) อ่านว่า พา-หน (น สะกด) เช่น “พระเศวตอดุลยเดชพาหน” ชื่อช้างเผือกประจำรัชกาลปัจจุบัน

พาหนะ หรือ พาหน ใช้เพื่อการเดินทางไปมา

คำว่า “หน” ที่หมายถึง ทาง, ทิศ, ที่, สถานที่ ถ้ายังไม่รู้ว่าจะให้เป็นภาษาอะไรดี จะลอง “จับบวช” ไปพลางก่อนก็ได้ คือบอกว่า กร่อนมาจาก “พาหน”

ถ้ามีพยานหลักฐานว่าไม่ใช่ ก็ “จับสึก” ได้ทันที

Read More
บาลีวันละคำ

กิริยา-กริยา (บาลีวันละคำ 396)

กิริยา-กริยา

“กิริยา” เขียนและอ่านเหมือนกันทั้งบาลีและไทย คืออ่านว่า กิ-ริ-ยา
ส่วน “กริยา” พจน.42 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า กฺริ-ยา และ กะ-ริ-ยา

คำว่า “กริยา” พจน.42 ยังบอกด้วยว่าเป็นสันสกฤต (เขียน “กฺริยา” มีจุดใต้ ก) คำนี้บาลีเป็น “กิริยา”
ความจริง บาลีมีทั้ง “กิริยา” และ “กฺริยา” เพียงแต่ว่าที่พบส่วนมากใช้ “กิริยา” จึงทำให้เข้าใจกันว่าเป็น “กฺริยา” เฉพาะสันสกฤต

“กิริยา – กฺริยา” ในบาลีมีความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป, การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม

ในทางธรรม หมายถึงการกระทำใดๆ ที่กล่าวถึงอย่างกว้างๆ หรืออย่างเป็นกลางๆ ถ้าเป็น “กิริยาพิเศษ” คือเป็นการกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ก่อให้เกิดวิบาก ก็เรียกว่า “กรรม” การกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่ก่อวิบาก เช่นการกระทำของพระอรหันต์ ไม่เรียกว่ากรรม แต่เป็นเพียง “กิริยา”

“กิริยา – กริยา” ในภาษาไทย แยกใช้ต่างกัน คือ –
1 การกระทํา; อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย, มารยาท ใช้ว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”
2 คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนามในไวยากรณ์ ใช้ว่า “กริยา” แต่ในบาลีไวยากรณ์โดยทั่วไป ใช้รูปบาลี คือ “กิริยา”

ระวัง :
กิริยาอาการ ไม่ใช่ กริยาอาการ
กิริยามารยาท ไม่ใช่ กริยามารยาท
อย่าใช้พลาด จะกลายเป็น “แก่ไวยากรณ์”

Read More
บาลีวันละคำ

เอกฉันท์ (บาลีวันละคำ 395)

เอกฉันท์

อ่านแบบไทยว่า เอก-กะ-ฉัน
บาลีเป็น “เอกจฺฉนฺท” อ่านว่า เอ-กัด-ฉัน-ทะ

“เอกจฺฉนฺท” ประกอบด้วย เอก + ฉนฺท = เอกจฺฉนฺท (บาลีซ้อน จ ตามอักขรวิธี)

“เอก” แปลว่า “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ (1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” (เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”) และ (2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” (ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น)
ในที่นี้ “เอก” ใช้ในฐานะเป็นคุณศัพท์

“ฉนฺท” แปลว่า ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่, ความปรารถนา, ความอยาก, ความประสงค์, สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น, ความตั้งใจ, การตกลงใจ

“เอกจฺฉนท – เอกฉันท์” ความหมายเด่นในภาษาบาลีคือ = ความชอบใจในสิ่งเดียวกัน หรือใจตรงกัน เช่นพอใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน
ความหมายเด่นในภาษาไทยคือ = การตกลงใจร่วมกัน หรือมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด
ความหมายที่ตรงกันทั้งในบาลีและไทยคือ = ต้องไม่มีเสียงคัดค้าน จึงจะเรียกได้ว่า “เอกฉันท์”

: ถ้า “ฉันต้องเป็นเอก” ก็ยากที่จะมีเอกฉันท์
: แต่ถ้า “เราเป็นเอกร่วมกัน” ก็เอกฉันท์ทันที

Read More
บาลีวันละคำ

เถรวาท (บาลีวันละคำ 394)

เถรวาท

อ่านแบบบาลีว่า เถ-ระ-วา-ทะ
อ่านแบบไทยว่า เถ-ระ-วาด

ประกอบด้วย เถร + วาท

“เถร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” “ผู้ยังคงอยู่” “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง” หมายถึงพระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่
“วาท” แปลธรรมดาว่า คำพูด, การพูด ในที่นี้มีความหมายว่า คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (ดูความหมายโดยละเอียดที่คำว่า “อาจริยวาท” บาลีวันละคำ (394) 12-6-56)

“เถรวาท” แปลตามศัพท์ธรรมดาว่า “คำพูดของพระเถระ” เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนานิกายหนึ่ง พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “ลัทธิที่ถือตามคติซึ่งพระเถระพุทธสาวกได้ทําสังคายนาไว้”

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน พระอรหันตเถระ 500 องค์ ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ได้ฟังคำสอนมาจากพระโอษฐ์โดยตรง ไม่ต้องผ่านครูบาอาจารย์ ได้ประชุมกันประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงยืนยันพร้อมกันว่า “พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้อย่างนี้”
เหตุการณ์นี้รู้จักกันในนาม “ปฐมสังคายนา”
นิกายพระพุทธศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่สืบทอดมาจาก “พระเถระ” เหล่านั้น จึงได้นามว่า “เถรวาท”
พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท คืออย่างที่บัดนี้นับถือกันอยู่ในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น

คำเตือน :
นับถือ “เถรวาท” ระวังอย่าให้เป็น “เถรส่องบาตร”
คือทําอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว

Read More
บาลีวันละคำ

อาจริยวาท (บาลีวันละคำ 393)

อาจริยวาท

อ่านแบบบาลีว่า อา-จะ-ริ-ยะ-วา-ทะ
อ่านแบบไทยว่า อา-จะ-ริ-ยะ-วาด

ประกอบด้วย อาจริย + วาท
“อาจริย” สันสกฤตเป็น “อาจารฺย” คือคำที่เราใช้ว่า “อาจารย์” หมายถึงผู้ฝึกมรรยาท, ผู้สั่งสอน, ผู้แนะนำ (ดูความหมายโดยละเอียดที่คำว่า “อาจริย” บาลีวันละคำ (133) 18-9-55)

“วาท” มีความหมายดังนี้ –
1 การพูด, คำพูด, การคุย
2 สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ
3 การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน
4 คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย

“อาจริยวาท” แปลตามศัพท์ธรรมดาว่า “คำพูดของอาจารย์” แต่โดยความหมาย หมายถึงคำสอนหรือหลักความเชื่อของอาจารย์
“อาจริยวาท” เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธศาสนานิกายมหายาน หลักหรือแนวคิดของพระพุทธศาสนานิกายนี้ อาจเข้าใจได้ด้วยคำว่า “อาจริยวาท” นั่นเอง กล่าวคือ ไม่ติดใจที่จะต้องรับรองยืนยันว่า “พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร” แต่พอใจที่จะยึดถือว่า “อาจารย์สอนไว้อย่างนี้”

พระพุทธศาสนาแยกกันเป็น 2 นิกายใหญ่ คือ (1) “อาจริยวาท” ที่เรียกกันทั่วไปว่า “มหายาน” และ (2) “เถรวาท” ที่ทางฝ่ายมหายานใช้คำเรียกว่า “หีนยาน”

: นับถืออาจารย์
ก็ได้คำสอนอาจารย์

Read More
บาลีวันละคำ

คเวสโก (บาลีวันละคำ 392)

คเวสโก

อ่านว่า คะ-เว-สะ-โก

“คเวสโก” คำเดิมคือ “คเวสก” (คะ-เว-สะ-กะ) ประกอบด้วย คว (บทหน้า) + เอส (ธาตุ = แสวงหา) + ณฺวุ (ปัจจัย แปลงเป็น “อก” = ผู้) = คเวสก แปลว่า “ผู้แสวงหา” “ผู้เสาะหา” “ผู้ค้นหา”

ศัพท์นี้คำกริยา คือ “คเวสติ” (เขา มัน เป็นประธาน เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) รากเดิมของคำนี้ มาจาก คว (=โค, วัว) + เอส แปลตามศัพท์ว่า “แสวงหาโค” ต่อมาความหมายกร่อนเหลือเพียง “แสวงหา” คือไม่ว่าจะแสวงหาอะไร ก็คงใช้ว่า “คเวสติ” (เทียบกับคำไทย “กินข้าวกินปลา” หมายถึง “รับประทานอาหาร” แม้ว่าอาหารมื้อนั้นจะไม่ใช่ข้าว หรือไม่มีปลาเลย ก็ยังคงใช้คำนี้)

“คเวสก” เป็นคุณศัพท์ ในที่นี้เป็นที่ทราบกันว่าคือ “ฉายา” (ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท) ของท่านอาจารย์มิตซูโอะ ประกอบวิภัตติปัจัยตามหลักบาลีไวยากรณ์จึงเป็น “คเวสโก” ดังที่เรามักเรียกควบกันไปว่า “อาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก”

: ถ้ารู้ว่าแสวงหาอะไร ก็คงได้พบเข้าสักวัน
แต่ถ้าไม่รู้ว่ากำลังแสวงหาอะไร ก็คงต้องแสวงหากันเรื่อยไป

Read More