Month: กรกฎาคม 2013

บาลีวันละคำ

ทัศนคติ (บาลีวันละคำ 432)

ทัศนคติ
(บาลีไทย)

อ่านว่า ทัด-สะ-นะ-คะ-ติ

“ทัศน-” บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) แปลว่า การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่เห็น, การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, ความเห็น, ทฤษฎี, ลัทธิ, ทิฐิ, การแสดง (ดูเพิ่มเติมที่ บาลีวันละคำ (352) 29-4-56)

“คติ” (คะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การไป” แต่มีความหมายอย่างอื่นอีก คือ การจากไป, การผ่านไป, ทางไป, ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่ไปเกิด, ทิศทาง, แนวทาง, วิถีชีวิต, ความเป็นไป, แบบอย่าง, วิธี (ดูเพิ่มเติมที่ บาลีวันละคำ (351) 28-4-56)

ทัศน + คติ = ทัศนคติ เป็นศัพท์บัญญัติทางวิชาจิตวิทยา จากภาษาอังกฤษว่า attitude และมีศัพท์บัญญัติอีกคำหนึ่งว่า “เจตคติ” (เจ-ตะ-คะ-ติ) พจน.42 บอกความหมายดังนี้ –
ทัศนคติ = แนวความคิดเห็น
เจตคติ = ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ความหมาย :
ทัศนคติ (Attitude) โดยภาพรวมหมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์หรือสิ่งแวดล้อมอันมีแนวโน้มที่จะให้บุคคลแสดงปฏิกิริยาและกระทำต่อสิ่งนั้น ๆ ในทางสนับสนุนหรือปฏิเสธ ทัศนคติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน การที่จะรู้ถึงทัศนคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ต้องใช้วิธีแปลความหมายของการแสดงออก (รุ่งนภา บุญคุ้ม. 2536. ทัศนคติของพัฒนากรต่อนโยบายการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาด : กรณีศึกษาศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 3. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, กรุงเทพ ฯ)

คำว่า “ทสฺสนคติ-ทัศนคติ” ไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์บาลี
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล attitude เป็นบาลีว่า อาการ, วิลาส, สณฺฐิติ
การแปล attitude ว่า “ทัศนคติ” หรือ “เจตคติ” จึงเป็นไปตามทัศนคติของนักวิชาการไทย

: ทัศนคติ เปลี่ยนได้
แต่ทัศนะที่มีอคติ เปลี่ยนยาก

Read More
บาลีวันละคำ

จริต (บาลีวันละคำ 431)

จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ ไทยอ่านว่า จะ-หฺริด

รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ต (ปัจจัย) ลง อิ อาคม : จรฺ + อิ + ต = จริต
“จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม แปลว่า ความประพฤติ, การเที่ยวไป, การกระทำ ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีความประพฤติ, มีนิสัย, มีกิริยา (เช่นนั้นเช่นนี้)
คำว่า “สุจริต” “ทุจริต” ที่เราพูดกัน ก็มาจาก “จริต” คำนี้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“จริต : ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น พุทธจริต เสียจริต วิกลจริต, บางทีใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า”
เสียจริต : เป็นบ้า, มีสติวิปลาส
วิกลจริต : มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติเพราะสติวิปลาส, เป็นบ้า
ดัดจริต : แสร้งทํากิริยาหรือวาจาให้เกินควร

ในทางธรรม “จริต” หมายถึงพื้นนิสัย หรือลักษณะทางอารมณ์ของคนที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นปกติ ท่านแบ่งจริตของคนเป็น 6 กลุ่ม คือ
1 ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจซาบซึ้งง่าย (คู่กับ 4)
2 โทสจริต หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด (คู่กับ 5)
3 โมหจริต หนักไปทางเหงาซึมงมงาย ลังเล (คู่กับ 6)
4 สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อง่าย มักคล้อยตาม
5 พุทธิจริต หนักไปทางคิดพิจารณาหาเหตุผล เชื่อยาก
6 วิตกจริต หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน

“ดัด” : ทําให้คดหรือตรงตามประสงค์
“จริต” มีไว้สำหรับ “ดัด”
เพราะฉะนั้น จง “ดัด” จริต แต่อย่า “ดัดจริต”

Read More
บาลีวันละคำ

มหาดไทย (บาลีวันละคำ 430)

มหาดไทย

มาจากภาษาอะไร ?

มีผู้แสดงความเห็นไว้ดังนี้

1 มาจากบาลีว่า “มหทย” (มะ-หะ-ทะ-ยะ) แปลว่า “เมตตายิ่ง” (Very Compassionate) “กรุณายิ่ง” (Very Merciful) (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, อ้างพจนานุกรมภาษาบาลี ของชิลเดอร์)

2 มาจากคำว่า “มหาอุทัย” แปลว่า “พระอาทิตย์แรกขึ้น” เราเขียน อุ พลาดเป็น ฦ ฦ กลายเป็น ฎ ชฎา เป็น “มหาฎทัย” เลยอ่านว่า มะ-หาด-ไท ภายหลังใช้ ด เด็ก แทน ฎ ชะฎา จึงเป็น “มหาดทัย” = มหาดไทย (หลวงวิจิตรวาทการ, อ้างประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย)

3 มาจากคำอินเดียว่า “มหามาตร” หมายถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง แขกพูดเร็วเป็น “มหาวัต” ฝรั่งฟังเป็น MAHOUT (มะเฮาท์ พจน.สอ เสถบุตร แปลว่า ควาญช้าง, มหาด) ไทยฟังเป็น “มหาต” เราเรียนวิชาคชกรรมจาก “มหาตอินเดีย” จนเชี่ยวชาญเรื่องช้าง จึงแยกเรียกเป็น “มหาตไทย” เพื่อให้ต่างจาก “มหาตอินเดีย” (ขุนวิจิตรมาตรา, อ้างความสำคัญของช้างกับชนชาติไทย อันเป็นเหตุให้พวก “มหาตไทย” ที่ใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในยามศึกสงคราม กลายมาเป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่ดูแลสุขทุกข์ของราษฎร์ในยามสงบ)

4 มาจาก มหา + อัต = มหาต มีความหมายว่า “คนที่เป็นใหญ่” “ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีอิสระพอที่จะสั่งปฏิบัติงานได้ด้วยอำนาจของตนเอง” อันเป็นลักษณะของข้าราชการมหาดไทย (ไม่ปรากฏนามเจ้าของความเห็น)

ข้อมูลในภาษาบาลี –

1 “มหทย” ไม่พบในคัมภีร์ แต่มี “ทยา” แปลว่า ความเห็นใจ, ความเมตตา, ความกรุณา (sympathy, compassion, kindness) “มีกรุณายิ่ง” บาลีใช้ว่า “ทยาลุ” (ทะ-ยา-ลุ) ไม่ใช่ “มหทย”

2 “อุทัย” บาลีเป็น “อุทย” (อุ-ทะ-ยะ) แปลว่า การขึ้น, ความเจริญ, การเพิ่มพูน, รายได้, ผลประโยชน์

3 “มหามาตร” ใกล้เคียงกับ “มหามตฺต” (มะ-หา-มัด-ตะ) ที่เราทับศัพท์ว่า “มหาอำมาตย์” แปลว่า อำมาตย์ผู้ใหญ่ (chief minister)

4 มหา + อัต = มหาต บาลีเป็น “มหตฺตา” แปลว่า “ผู้มีตนยิ่งใหญ่” หมายถึงพระอรหันต์

: “มหาดไทย” จะมาจากคำว่าอะไร
ก็ขึ้นอยู่กับคน “มหาดไทย” จะทำให้มันมีความหมายว่าอะไร

—————–
(ตามคำอาราธนาของ ผจญ จอจาน และ Noppadon Intaptim)

Read More
บาลีวันละคำ

สมี (บาลีวันละคำ 429)

สมี

อ่านว่า สะ-หฺมี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

“สมี : คําเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก; (คำโบราณ) คําใช้เรียกพระภิกษุ”

มีปัญหาว่า “สมี” ที่หมายถึงพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก มาจากภาษาอะไร ?

ความหมายท่อนท้ายที่ พจน.42 บอกไว้ว่า “(โบ) คําใช้เรียกพระภิกษุ” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2493 บอกไว้ดังนี้ –

“สมี : (โบ) เป็นคำใช้เรียกพระภิกษุ, ภายหลังใช้เป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์”

ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกว่า แต่เดิมนั้น “สมี” เป็นคำใช้เรียกพระภิกษุปกติธรรมดาทั่วไป

ขอเสนอข้อพิจารณาดังนี้ –

1 ในภาษาบาลี คำที่ใกล้เคียงกับ “สมี” มากที่สุดคือ “สามี” ความหมายที่เราเข้าใจกันคือ ผัว, ชายที่เป็นคู่ครองของหญิง

2 “สามี” ยังมีความหมายอื่นอีก คือ เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สามี” ว่า owner, ruler, lord, master

3 ในภาษาบาลี คำที่ชาวบ้านใช้เรียกนักบวชคำหนึ่งคือ “อยฺย” (ไอ-ยะ) นักบาลีในเมืองไทยมักแปลว่า “พระผู้เป็นเจ้า” (คนละความหมายกับ “พระเจ้า”) “พระคุณเจ้า” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อยฺย” ว่า gentleman, sire, lord, master

จะเห็นได้ว่า “สามี” กับ “อยฺย” มีความหมายตรงกัน ถ้าใช้ “อยฺย” เรียกนักบวชได้ ก็ใช้ “สามี” เรียกได้เช่นกัน

4 “สามี” สันสกฤตเป็น “สฺวามินฺ” (ที่เราใช้ว่า “สวามี”) สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ให้คำแปลอย่างหนึ่งว่า “อาจารย์, ครูผู้สั่งสอนธรรมหรือเวท, พราหมณ์หรือบัณฑิตผู้คงแก่เรียน”

5 ในอินเดียก็เรียกนักบวชว่า “สวามี” เช่น สวามี วิเวกานันทะ, สวามี สัตยานันทปุรี (ท่านผู้นี้มาอยู่ในเมืองไทยระหว่าง 2475-2485)

6 “สามี-สวามี” ออกเสียงแบบอินเดียเป็น ซา-หมี, สวา-หมี ได้, แล้วกร่อนเป็น “สมี” เดิมใช้เรียกพระภิกษุทั่วไป ภายหลังจึงใช้เรียกเฉพาะพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก

: คนดี เสริมค่าของคำ
: คนระยำ ทำให้คำไร้ค่า

Read More
บาลีวันละคำ

จริยธรรม-ธรรมจริยา (บาลีวันละคำ 428)

จริยธรรม-ธรรมจริยา

ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ จริย + ธรรม

“จริย” มาจากรากศัพท์ว่า จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย (บางท่านว่าลง ณฺย ปัจจัย ลบ ณ ลง อิ อาคม ไม่ทีฆะต้นธาตุตามอำนาจของปัจจัยเนื่องด้วย ณ) = จริย (เป็น จริยา ก็มี) แปลว่า “-ที่ควรประพฤติ”

“ธมฺม” มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” และแปลทับศัพท์ว่า ธรรม ความหมายรวบยอดของ “ธรรม” ก็คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี (ดูคำแปลอย่างละเอียดที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

จริย + ธรรม = จริยธรรม (จะ-ริ-ยะ-ทำ) พจน.42 ให้ความหมายว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” เป็นการให้ความหมายตามบัญญัติสมัยปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ “จริยธรรม” เป็นคำแปลสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics

ถ้าเอา “ธรรม” ไว้หน้า เอา “จริยา” ไว้หลัง ก็จะเป็น “ธรรมจริยา” (ทำ-มะ-จะ-ริ-ยา) พจน.42 ให้ความหมายว่า “การประพฤติเป็นธรรม, การประพฤติถูกธรรม”

ในมงคลสูตร มีมงคลข้อหนึ่งว่า “ธมฺมจริยา” รูปคำตรงกับ “ธรรมจริยา” ท่านให้ความหมายว่า ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม (righteous conduct)

เราเคยมี “วิชาศีลธรรม” สอนในโรงเรียน แต่ต่อมาถูกถอดออกไป แล้วกลับมาใหม่ในนาม “วิชาจริยธรรม”
“ศีลธรรม” มีกฎที่ชัดเจนว่า อะไรคือศีล อะไรคือธรรรม อย่างไรผิด และอย่างไรถูก
ส่วน “จริยธรรม” มีความหมายไม่ตายตัว เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มคนตีความเข้าข้างตัวเองได้ง่าย เช่นอ้างว่า “การกระทำเช่นนี้ ข้าพเจ้าถือว่าไม่ผิดจริยธรรมของข้าพเจ้าหรือของพวกข้าพเจ้า”

: ถ้าขาดศีลธรรมเป็นรากฐาน จริยธรรมของคนพาลก็เบ่งบานเต็มเมือง

Read More
บาลีวันละคำ

กลาโหม (บาลีวันละคำ 427)

กลาโหม

อ่านว่า กะ-ลา-โหมฺ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “กลาโหม” ไว้ว่า –

1 ชื่อกรมที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยโบราณ มีสมุหพระกลาโหมเป็นประธาน

2 ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ

3 การชุมนุมพลรบ

มีปัญหาว่า คำว่า “กลาโหม” มาจากภาษาอะไร ?

1 บางท่านว่า กลา + โหม “กลา” แปลว่า ส่วน, เสี้ยวที่สิบหกของพระจันทร์ “โหม” คำไทย แปลว่า ทำให้แรงขึ้น (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)

2 บางท่านว่า “กลาโหม” เป็นพิธีของพราหมณ์ แปลว่า “กองไฟ” เวลาจะไปทัพต้องทำพิธีนี้ จึงเอามาใช้เป็นคำเกี่ยวกับทหาร (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)

3 บางท่านว่า “กลา” เป็นคำสันสกฤต “โหม” คำไทย แปลว่า รบ “กลาโหม” คือกองรบ (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)

4 บางท่านว่า มาจากบาลีว่า“กลห” (กะ-ละ-หะ) แปลว่า วิวาท, ทะเลาะกัน, วุ่นวาย, รบประจัญบาน (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

5 บางท่านว่า มาจากคำเขมรว่า กฺรฬาโหม “กฺรฬา” แปลว่า สังเวียน, ลาน, บริเวณ, ปริมณฑล, กระทงจีวร (ผ้าท่อนหนึ่งๆ ของจีวร มีลักษณะเหมือนกระทงนา ซึ่งมีรูปสี่เหลี่ยม) “โหม” แปลว่า การบูชาไฟ “กฺรฬาโหม” แปลว่า “สังเวียนแห่งการบูชาไฟ” เขมรโบราณเวลาจะไปทัพ พวกพราหมณ์จะต้องทำพิธีนี้ ไทยรับธรรมเนียมนี้มาจากเขมร (จิตร ภูมิศักดิ์)

ขอเสนอคำบางคำในภาษาบาลีเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้ –

1 “กลา” (กะ-ลา) บาลีมีความหมาย 2 อย่างคือ (1) เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม (นัยเดียวกับที่ว่า “กฺรฬา” แปลว่า “กระทงจีวร” คือผ้าชิ้นเล็กๆ ที่ประกอบกันเป็นจีวรเต็มผืน) (2) อุบาย (an art), การหลอกลวง (a trick)

2 “กล” (กะ-ละ ไทยอ่านว่า กน กร่อนมาจาก “กลา”) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้

– การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล
– เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง
– เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล
– เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ เช่น ช่างกล
– เช่น, อย่าง, เหมือน เช่น เหตุผลกลใด
– เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ

จะเห็นได้ว่า เป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “การหลอกลวง” นั่นเอง
ส่วนที่หมายถึงเครื่องจักรเครื่องยนต์ ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบกันเข้านั่นเองจึงเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ อันเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม”

3 คำที่ออกมาจาก “กล” คำหนึ่งที่ชัดเจนมาก คือ “กลยุทธ์” (กน-ละ-ยุด) หมายถึงการรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่าง ๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้ “กล” ในคำนี้มีที่มาจากภารกิจของทหารโดยตรง

จะเห็นได้ว่า “กล-กลา” มีความหมายเกี่ยวกับกองทัพกองทหารได้ด้วย

4 “โหม” บาลีอ่านว่า โห-มะ แปลว่า เครื่องเซ่น, เครื่องบวงสรวง, การบูชา, การสังเวย, บูชายัญ, บูชาไฟ

ถ้า “กลาโหม” จะมาจากคำบาลี ก็แปลได้ว่า “พิธีเซ่นสรวงสังเวยในเวลาออกรบ” แล้วคลี่คลายกลายมาเป็นชื่อเรียกหน่วยงานของทหารดังที่ใช้ในปัจจุบัน

: รบกันด้วยกำลังความคิด มีผลศักดิ์สิทธิ์กว่าใช้กำลังอื่นใด

———————-
(เนื่องมาจากคำถามของ Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya
และขออภัยที่บาลีวันละคำวันนี้ยาวเกินปกติ)

Read More
บาลีวันละคำ

มาตุรงค์-บิตุรงค์ (บาลีวันละคำ 426)

มาตุรงค์-บิตุรงค์
คำไทยที่สร้างขึ้นจากคำบาลี

อ่านว่า มา-ตุ-รง, บิ-ตุ-รง

มาตุรงค์ แปลว่า “แม่” บิตุรงค์ แปลว่า “พ่อ”
มาตุรงค์-บิตุรงค์ ไม่ใช่คำที่ใช้พูดจากันตามปกติ แต่นิยมใช้ในกาพย์กลอนซึ่งจำเป็นต้องหาคำมารับสัมผัส กวีจึงสร้างคำขึ้นเพื่อให้มีเสียงรับสัมผัสตามที่ต้องการ

“มาตุรงค์” มาจาก มาตุ (มา-ตุ = แม่) + องฺค (อัง-คะ = องค์) เติม “ร” เข้าตรงกลางเพื่อให้เกิดรื่นไหลในการเปล่งเสียง (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ลง ร (ระ) อาคม”) : มาตุ + ร + องฺค = มาตุรงฺค (มา-ตุ-รัง-คะ) เขียนแบบไทยเป็น “มาตุรงค์”
“องฺค” แปลว่า ส่วน, ส่วนของร่างกาย, ส่วนประกอบ แต่ในที่นี้ใช้ในฐานะเป็นส่วนประกอบของคำโดยไม่ทำให้มีความหมายเพิ่มขึ้น คือ “มาตุรงค์” คงแปลว่า “แม่” เท่าเดิม

“บิตุรงค์” มาจาก ปิตุ (ปิ-ตุ = พ่อ) + องฺค = ปิตรงฺค เขียนแบบไทยเป็น “บิตุรงค์” (บ ใบไม้ ไม่ใช่ ป ปลา) ใช้หลักเกณฑ์การสร้างคำเช่นเดียวกับ “มาตุรงค์”

มาตุรงค์-บิตุรงค์ เป็นมรดกทางภาษาของภูมิปัญญาไทย

: สร้างคำขึ้นมาใช้ในที่เหมาะ
: รูปก็เพราะเสียงก็ดีมีความหมาย
: สร้างคนขึ้นมาใช้ไว้มากมาย
: น่าเสียดายคนดีดีมีไม่ใช้

Read More
บาลีวันละคำ

เสพ (บาลีวันละคำ 425)

เสพ
(บาลีแปลง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายคำว่า“เสพ” ไว้ดังนี้ –

1 “คบ” เช่น ซ่องเสพ
2 “กิน, บริโภค” เช่น เสพสุรา
3 “ร่วมประเวณี” เช่น เสพเมถุน

และบอกว่า “เสพ” มาจากบาลีสันสกฤต

บาลีไม่มีคำว่า “เสพ” ตรงๆ แต่มีคำกริยา “เสวติ” (เส-วะ-ติ) (บุรุษที่พูดถึง เอกพจน์) มีความหมายว่า รับใช้, คบหาสมาคม, ซ่องเสพ, หันไปหา, ปฏิบัติ, รวมเข้าไว้, ใช้ประโยชน์

“เสวติ” มาจากรากศัพท์ (ธาตุ) ว่า “เสว” (เส-วะ)
แปลง“ว” เป็น “พ” ตามหลักนิยมในภาษาไทย “เสพ” ก็ตรงกับ “เสว”

“เสพ” ไทยมีความหมายตาม “เสว” บาลีอย่างไร ?

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสวติ” คำหนึ่งว่า serve ที่เราพูดกันว่า “เสิร์ฟ” เป็นคำเดียวกับ service ที่แปลกันคุ้นปากมากที่สุดว่า “บริการ”

พจน.42 บอกความหมายของ “บริการ” ว่า ปฏิบัติรับใช้, ให้ความสะดวกต่าง ๆ

ขยายความช่วย พจน.42 เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น ก็คือ –

1 คนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งบริการให้แก่กันและกัน (ตามความหมายที่ว่า “เพื่อนมีไว้ทำประโยชน์ให้เพื่อน”) นี่คือ “เสพ” ในความหมายว่าคบหาสมาคมกัน
2 เราทำให้ “ยา” บริการเรา ก็คือเรากำลัง “เสพยา” และถ้าเป็นยาที่ใช้บริการเป็นประจำจนขาดไม่ได้ ก็เรียกว่า “ยาเสพติด” นี่คือ “เสพ” ในความหมายว่า กิน, บริโภค
3 โดยนัยนี้ “เสพเมถุน” ก็หมายถึงสองชีวิตกำลังใช้ “เมถุน” เป็นเครื่องบริการกันและกัน นี่คือ “เสพ” ในความหมายว่า ร่วมประเวณี

“เสว” = เสพ = serve, service = บริการ มีความหมายเดียวกันด้วยประการฉะนี้

: บางอย่าง ยิ่งเสพยิ่งดี
: หลายอย่าง ยิ่งเสพยิ่งเสีย

Read More
บาลีวันละคำ

วรราชาทินัดดามาตุ (บาลีวันละคำ 424)

วรราชาทินัดดามาตุ

ประกอบด้วยคำว่า วร + ราช + อาทิ + นัดดา + มาตุ

“วร” เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ. เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, ความกรุณา

“ราช” แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” (2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน
“ราช” ในภาษาไทยมักใช้ประกอบกับคําอื่น ถ้าคําเดียวนิยมใช้ว่า “ราชา”

“อาทิ” แปลว่า อันต้น, ทีแรก, เริ่มต้น, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า, จุดเริ่มต้น, จุดเริ่มแรก, เบื้องต้น, ขั้นแรก, เป็นครั้งแรก
ถ้าใช้กับ “คน” ก็หมายถึง คนที่หนึ่ง คนแรก คนที่เป็นต้นเหตุ

“นัดดา” บาลีเป็น “นตฺตุ” (นัด-ตุ) แปลว่า หลาน (หมายเฉพาะลูกของลูกโดยตรง)
“นตฺตุ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไป” (คือผู้นำวงศ์ตระกูลให้สืบทอดต่อไป) “ผู้อันเขาผูกพันไว้ด้วยความรัก” (พ่อแม่รักชั้นหนึ่งแล้ว ยังปู่ย่าตายายรักซ้ำอีกชั้นหนึ่ง)
คำนี้ถ้าเป็นประธาน บาลีแจกรูปเป็น “นตฺตา” (นัด-ตา) จึงใช้ในภาษาไทย (เป็นราชาศัพท์) ว่า “นัดดา”

“มาตุ” บาลีอ่านว่า มา-ตุ ถ้าเป็นประธาน แจกรูปเป็น “มาตา” หรือที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มารดา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักลูกโดยธรรมชาติ” หรือ “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม” หมายถึงหญิงที่เป็นแม่ (ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมจึงเป็น “มาตุ”)
“มาตุ” ในภาษาไทยถ้าอยู่ท้ายคำ “-ตุ” ใช้เป็นตัวสะกด อ่านว่า “มาด” ทำนองเดียวกับ “เหตุ” อ่านว่า เหด “ชาติ” อ่านว่า ชาด

Read More
บาลีวันละคำ

วัตร (บาลีวันละคำ 423)

วัตร

ภาษาไทย อ่านว่า วัด
บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) และ “วตฺต” (วัด-ตะ)

“วัตร” แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่ดำเนินไป” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน

ในสังคมสงฆ์ ท่านจำแนก “วัตร” เป็นดังนี้ –
1 “กิจวัตร” ว่าด้วยกิจที่ควรทำ เช่น อุปัชฌายวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์) สัทธิวิหาริกวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่อศิษย์) อาคันตุกวัตร (กิจที่พึงปฏิบัติต่อแขก)
2 “จริยาวัตร” ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้าต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพง, ไม่ขากถ่มในที่อันไม่สมควร
3 “วิธีวัตร” ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ เช่น วิธีเก็บบริขาร วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่ (เช่นเดินบิณฑบาต)

ภิกษุเมื่ออยู่รวมกัน ต้องมีพระเถระเป็นหัวหน้าหมู่คณะ และมีธรรมเนียมที่ภิกษุในที่นั้นจะต้องไปทำวัตรแก่พระเถระในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น คือไปทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูที่อยู่ของท่าน ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ดูแลความเรียบร้อยทั่วไป เป็นโอกาสที่จะได้สนทนาธรรมหรือสอบถามปัญหาธรรมแก่กันและกัน หรือยกธรรมะบทใดบทหนึ่งขึ้นมาสวดสาธยายสู่กันฟัง เป็นการซักซ้อมความรู้ไปในตัว เป็นที่มาของการ “ทำวัตรสวดมนต์” อันมีความหมายว่า ทำวัตรแก่พระเถระเสร็จแล้วก็สวดมนต์คือทบทวนความรู้กัน

: อยู่อย่างคน ต้องทำ“วัตร”
: อยู่อย่างสัตว์ .. ตัวใครตัวมัน

Read More